วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์


SOPA หรือ ”ร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์”

ระยะนี้เว็บไซต์ชื่อดังหลายเว็บไซต์ในสหรัฐอเมริกา ต่างพากันออกมาต่อต้านกฏหมาย SOPA หรือ ”ร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์” กันมากมาย แล้ว SOPA คืออะไร และทำไมผู้ให้บริการเว็บไซต์ใหญ่ๆ ถึงให้ความสำคัญ
ร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (SOPA – Stop Online Piracy Act) คือ ร่างกฏหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา (USA) ซึ่งมีจุดประสงค์คือ ต้องการหยุดการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ต   เพื่อป้องกันการคัดลอกข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่อย่างมากมายบนอินเตอร์เน็ตครับ โดย SOPA จะทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ทางปัญญา เช่น ค่ายเพลง ค่ายหนัง สามารถฟ้องร้องต่อ การละเมิดลิขสิทธิ์ของตนได้ 
โดย นายลามาร์ สมิธ (Lamar Smith) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความสามารถของฝ่ายบังคับใช้กฎหมายและของผู้ถือลิขสิทธิ์ในอันที่จะต่อต้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและสินค้าปลอมในโลกออนไลน์ และอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของคณะกรรมาธิการด้านการยุติธรรมแห่งสภาผู้แทนราษฎรอยู่ ซึ่งมีทีท่าว่าจะผ่านความเห็นชอบ ถึงแม้จะมีแนวโน้มว่าผู้ให้บริการเว็บไซต์หลายรายไม่เห็นด้วยก็ตาม
 
โดยมีประเด็นหลักๆของ SOPA เช่น
  • SOPA สั่งห้ามมิให้เว็บไซด์มีการส่งเสริมการละเมิดลิขสิทธิ์
  • SOPA สั่งห้ามมิให้ ผู้ให้บริการด้านการโฆษณาบนอินเตอร์เน็ต มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บไซด์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์
  • SOPA สั่งห้ามมิให้ ผู้ให้บริการชำระค่าบริการออนไลน์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บไซด์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์
  • SOPA สั่งห้ามมิให้ Search Engine ทำ link การเชื่อมต่อไปยังเว็บไซด์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์
โดยมีผู้วิเคราะห์ว่าร่างรัฐบัญญัตินี้ให้อำนาจกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (Department of Justice) และเจ้าของลิขสิทธิ์มากเกินไป เพราะสามารถขอให้ศาลสั่งปราบปรามบรรดาเว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เต็มที่ ลองนึกภาพง่ายๆ ว่าต่อไปนี้สามารถสั่งห้ามบรรดาเครือข่ายโฆษณาออนไลน์ รวมถึงสั่งห้าม Search engine เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ต่างๆ ที่อาจเข้าข่ายความผิดละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาเหล่านี้
 
ผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทางปัญญา ต่างให้การสนับสนุนเพราะกฏหมายนี้จะเพิ่มศักยภาพให้แก่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยก็ออกมาค้านว่า รัฐบัญญัตินี้มีนัยเป็นการตรวจพิจารณาทางอินเทอร์เน็ต (Internet Censorship) อันจะส่งผลให้โลกอินเทอร์เน็ตขาดศักยภาพ และคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย
 
นั่นหมายความว่า บริษัทต่างๆ จะต้องรับผิดชอบทางกฏหมายสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ใช้โพสต์ เว็บไซต์อย่าง Facebook, YouTube, Twitter, Wikipedia หรือเว็บไหนก็ตามที่เปิดให้ผู้ใช้เข้ามาสร้างเนื้อหาเองได้ ก็จะไม่รอดพ้นจากกฏหมายตัวนี้ และทันทีที่กฏหมายนี้ผ่านความเห็นชอบเป็นกฏหมายขึ้นมา องค์กรที่ออกตัวว่าเป็นผู้พิทักษ์สิทธิประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างๆ ก็จะมีอำนาจในการสั่งปิดตัวเว็บไซต์ต่างๆได้ โดยมีผู้เสียประโยชน์ เช่น เว็บไซต์สารานุกรมเสรีอย่าง Wikipedia อาจถูกปิดตัวลง รวมทั้งเว็บไซต์อย่าง Google Youtube หรือ Facebook เนื่องจากไม่สามารถควบคุมเนื้อหาที่โพสขึ้นโดยผู้ใช้งานได้
ส่วนฝ่ายผู้ได้รับผลประโยชน์ เช่น สื่อดั้งเดิมต่างๆ ตัวอย่างเช่น สถานีโทรทัศน์ บริษัทผลิตภาพยนต์ และบรรดาค่ายเพลงต่างๆได้รับประโยชน์ โดยไม่มีใครเอารายการของพวกเขาไปอัพโหลดขึ้นเว็บสาธารณะอย่าง YouTube ได้
 
เมื่อมองในมุมนี้ ผู้ประกอบการเว็บไซต์และผู้เชียวชาญด้านเว็บไซต์หลายราย ต่างเห็นว่า เป็นการถอยหลังลงคลองหรือเปล่า กฏหมายลิขสิทธิ์เป็นสิ่งที่ดี เราเคารพมัน แต่กฏหมาย SOPA เข้มงวดเกินไปจนขัดขวางความก้าวหน้าของเทคโนโลยี แล้วโลกไร้พรมหแดนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
 
ล่าสุด 17 มกราคม 2555 ร่างกฏหมาย SOPA ถูกยุติการเสนอร่างต่อวุฒิสภาสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางกลุ่มผู้แทนอีกกลุ่มหนึ่งกำลังเสนอร่างกฏหมายลักษณะเดียวกัน นั่นคือร่างรัฐบัญญัติคุ้มครองไอพี (Protect IP Act) หรือ PIPA ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่การบล็อค DNS เมื่อได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่เช่นกัน
 
การปิดเว็บไซต์ประท้วงของวิกิพีเดียครั้งนี้ เกิดขึ้นบนความหวังให้ชาวออนไลน์ในสหรัฐฯเข้าใจถึงร่างกฏหมายทั้ง 2 ฉบับ ทั้ง SOPA ที่เพิ่งแท้งไป และ PIPA ที่วิศวกรอินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่งออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งชาวออนไลน์ควรต้องเข้าใจและรับทราบความเปลี่ยนแปลงที่จะตามมานั่นเอง
 
 
อ้างอิงจาก
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น